คุณวิเศษของยากวาดแสงหมึก

คุณวิเศษของยากวาดแสงหมึก

อันที่จริงตำรับยาทุกตำรับที่ปรากฏในหนังสือแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เป็นยาที่ใช้ได้ผลดีมาแล้วทั้งนั้น แต่ต้องวางยาให้เหมาะสมกับขั้นตอนการพัฒนาของโรค ซึ่งตั้งอยู่บนสมุฏฐานของโรค ธาตุ อายุ อากาศ และเวลา

เคยได้ยินอาจารย์แพทย์แผนไทยท่านหนึ่งกล่าวว่า ตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณทั้ง 27 ตำรับ (ที่จริงควรเป็น 28 ตำรับ หากรวม ตำรับนวหอย)ซึ่งคัดมาจากแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ผ่านการกลั่นกรองจากเหล่าแพทย์โบราณมานั้น ล้วนเป็นยาที่ให้ผลดีต่อการรักษาโรคที่ครอบคลุมโรคสามัญทั่วไป ยากวาดแสงหมึกก็เป็นหนึ่งในตำรับยาสามัญประจำบ้าน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข

สรรพคุณยากวาดแสงหมึกตามประกาศ 

แก้ตัวร้อน ละลายน้ำดอกไม้เทศ
แก้ท้องขึ้น ปวดท้อง ละลายน้ำใบกะเพราต้ม
แก้ไอ ขับเสมหะ ละลายน้ำลูกมะแว้งเครือหรือลูกมะแว้งต้นกวาดคอ
แก้ปากเป็นแผล แก้ละออง ละลายน้ำลูกเบญกานีฝนทาปาก

ขนาดรับประทาน ใช้กวาดคอวันละ 1 ครั้ง หลังจากนั้นรับประทานทุก 3 ชั่วโมง
       เด็กอายุ 1-6 เดือน ครั้งละ 2 เม็ด (0.2 กรัม/เม็ด)
       เด็กอายุ 7-12 เดือน ครั้งละ 3 เม็ด (0.2 กรัม/เม็ด)
ยาตำรับนี้กำหนดใช้สำหรับเด็ก แต่จากประสบการณ์การใช้ยา ก็สามารถใช้กับผู้ใหญ่ได้เช่นกัน เพียงแต่เพิ่มจำนวนยาให้มากขึ้น

จากประสบการณ์การจริงการใช้ยากวาดแสงหมึกในผู้ใหญ่พบว่า ยาตำรับนี้มีคุณสมบัติดีในการรักษาโรคที่เกิดส่วนหัวทั้งหมด เช่น ปวดหัว มีน้ำมูกใสๆเนื่องจากพิษความร้อนกำลังจะเป็นหวัด เลือดกำเดาไหล เจ็บคอ คอแดง ช่องปากอักเสบ เคยพบเด็กที่ป่วยด้วยอาการไอหวัดเรื้อรังกำลังพัฒนาเป็นโรคหอบหืด  เมื่อรับประทานยากวาดแสงหมึกระยะหนึ่ง อาการไอหวัดเรื้อรังก็หายไป ยาตำรับนี้ประกอบด้วยตัวยาดังต่อไปนี้

กลุ่มที่ 1  มี หมึกหอม จันทน์ชะมด จันทน์เทศ ใบพิมเสน ใบสันพร้าหอม ดีงูเหลือม
กลุ่มที่ 2  มี ลูกกระวาน ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กานพลู หัวหอม ใบกะเพรา
ทั้งสองกลุ่มหนักสิ่งละ 4 ส่วน
กลุ่มที่ 3 มี ชะมด พิมเสน
สิ่งละ 1 ส่วน

ตัวยากลุ่มที่หนึ่งนั้นเป็นยาหลัก มีรสเย็น มีสรรพคุณแก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้หัวไข้กาฬ โดยเฉพาะหมึกหอมนั้นเป็นชนิดเดียวกับที่คนจีนใช้ฝนเพื่อเอาน้ำหมึกทาแก้มเขียนเป็นตัวเสือเมื่อเกิดคางทูม ส่วนดีงูเหลือม มีรสขม ช่วยทำให้ยาแล่นเร็ว

ตัวยากลุ่มที่สอง เป็นยาช่วย มีรสร้อนสุขุม ช่วยเสริมฤทธิ์ยากลุ่มแรกให้มีสรรพคุณแรงขึ้นและช่วยระบบประสาทด้วย ที่น่าสังเกต คือ หัวหอมแดง หรือว่านหอมแดง  เป็นชนิดหัวยาวรูปไข่ คนละชนิดกับหอมแดงทำอาหาร หัวมีเนื้อสีแดงเข้ม หัวหอมนี้มีรสร้อน ขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ แพทย์ตามชนบทใช้หัวหอมตำสุมกระหม่อมเด็กแก้หวัด
ส่วนตัวยากลุ่มที่สาม เป็นยาช่วยบำรุงหัวใจ และกระพือลม

ตัวยาทั้งสามกลุ่มนี้เมื่อประกอบเป็นตำรับยาจึงใช้ลดความร้อน แก้อาการปวดหัว ปวดเส้นประสาทบนใบหน้าและหนังศีรษะ ลดอาการหวัดร้อน นอกเหนือจากสรรพคุณตามประกาศของกระทรวงดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะอาการปวดหัว ตัวร้อน เจ็บคอ กลับมาใช้ยากวาดแสงหมึก ดีและปลอดภัยกว่าฟ้าทะลายโจรอย่างเดียวนะคะ